วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

คืนยิ้มสดใส...ให้ลูกน้อย




พ่อแม่ที่มีลูกเกิดมาพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ย่อมมีความทุกข์ใจเป็นธรรมดา ไหนจะสงสารลูกน้อยที่เกิดมาไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ ไหนจะกังวลว่าลูกจะมีปมด้อยเมื่อโตขึ้นหรือเปล่า การเลี้ยงดูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเด็กไม่สามารถที่จะดูดนมได้ดีอย่างเด็กทั่วไป...สารพัดเรื่องให้กังวลค่ะ ส่วนตัวเด็กเองก็มีปัญหาจากสภาพความพิการที่เป็น เช่น ดูดนมได้ไม่ดีเหมือนเด็กปกติอย่างที่บอก บางรายอาจมีปัญหาความพิการร่วมในระบบอื่นๆ เช่น ความพิการทางหัวใจและระบบไหลเวียน ความพิการทางระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย รวมทั้งทางระบบประสาทและสมอง บางครั้งความพิการยังอาจส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง หรือแม้แต่การอักเสบของหูชั้นกลางก็เกิดได้บ่อยกว่าปกติ

รักษาแต่เนิ่น...ดีที่สุด

ความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ แต่การรักษาควรรีบตัดสินใจทำแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยปัญหาให้เนิ่นนานจนผ่านช่วงเวลาสำคัญไป ซึ่งพ่อแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจในการรักษาและมารับการรักษาอย่างถูกต้องตามกำหนดเวลา ก็จะช่วยให้ลูกน้อยกลับมามีอวัยวะที่สมบูรณ์และใช้งานได้ทั้งปากและเพดาน รวมทั้งฟันและกระดูกใบหน้า เมื่อโตขึ้นก็จะมีลักษณะเกือบจะปกติ

นอกจากนั้นการที่พ่อแม่นำเด็กมาพบแพทย์ ไม่ใช่เฉพาะแค่รักษาอาการปากแหว่ง เพดานโหว่ แต่แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อค้นหาความผิดปกติร่วมอื่นๆ จะได้ทำการแก้ไขไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ

พบแพทย์...พบทางออก

เมื่อพ่อแม่นำเด็กมาพบแพทย์ ใช่ว่าจะทำการรักษาได้เลยนะคะ แพทย์จะต้องตรวจและประเมินก่อนว่าเป็นปากแหว่ง เพดานโหว่ชนิดใด โดยทั่วไปสามารถแยกได้ดังนี้


- ปากแหว่ง แบ่งออกเป็น : ปากแหว่งแบบสมบูรณ์ คือ แหว่งเข้าไปถึงรูจมูก และปากแหว่งแบบไม่สมบูรณ์ คือ แหว่งเฉพาะที่ริมฝีปาก ซึ่งการแหว่งอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

- เพดานโหว่ แบ่งออกเป็น : เพดานโหว่แบบสมบูรณ์ คือ โหว่ตั้งแต่ลิ้นไก่ถึงเพดานแข็งด้านหน้า และถึงเหงือกด้านหลัง และเพดานโหว่แบบไม่สมบูรณ์ คือ โหว่เฉพาะส่วนเพดานอ่อนด้านหลังเท่านั้น ซึ่งการโหว่อาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

- ปากแหว่งเพดานโหว่ร่วมกับความผิดปกติของส่วนอื่นๆ ของใบหน้า เช่น กลุ่มความพิการใบหน้าชนิดต่างๆ, ความพิการของโรคที่เกี่ยวข้องกับขากรรไกรเล็กผิดปกติ เป็นต้น

ครั้นทราบว่าเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ชนิดใดแล้ว ก่อนลงมือรักษาแพทย์จะตรวจสภาพร่างกายทั่วๆ ไปของเด็กว่ามีความพร้อมต่อการผ่าตัดมากน้อยเพียงใด ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำการรักษาความพิการแฝงก่อน เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ปอด ฯลฯ หรือรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายสนิทเสียก่อน เช่น ไข้หวัด ปอดอักเสบ หูอักเสบ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ส่งผลต่อการผ่าตัดและดมยาสลบ

ด้วยเหตุที่การผ่าตัดจะทำโดยการดมยาสลบทุกราย ฉะนั้น เด็กจะต้องงดน้ำ นม และอาการอื่นๆ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารค่ะ

ผ่าตัด...ช่วงใดเหมาะสม

กรณีปากแหว่ง โดยทั่วไปช่วงเวลาเหมาะสมจะกำหนดอายุประมาณ 3 เดือน น้ำหนักเด็กมากกว่า 5 กก. ไม่มีปัญหาเรื่องซีดหรือการติดเชื้ออื่นๆ ในร่างกาย การผ่าตัดจะมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะความพิการของปากและจมูก รวมถึงความถนัดของแพทย์ แต่โดยทั่วไปแพทย์จะผ่าตัดโดยการเลื่อนกล้ามเนื้อ ผิวหนัง และส่วนต่างๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดตำแหน่งให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และใช้เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ บนใบหน้ามาหนุนสร้างความนูน ความสูง ลักษณะของจมูกและริมฝีปาก ใช้เวลาทำประมาณ 1-2 ชั่วโมง

กรณีเพดานโหว่โดยไม่มีความพิการของปาก อายุที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดมักจะประมาณ 10 เดือน - 1 ขวบครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะเริ่มใช้เพดานในการพูด หากเด็กได้รับการผ่าตัดที่สมบูรณ์แล้วโอกาสที่เด็กจะพูดได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติมีค่อนข้างสูง สำหรับวิธีการผ่าตัดนั้นแพทย์มักอาศัยเนื้อเยื่อของเพดานด้านข้างทั้งสอง เลาะออกจากกระดูกเพดานแล้วเลื่อนเข้ามาหากันตรงกลาง โดยการเลาะเนื้อเยื่อส่วนโพรงจมูก กล้ามเนื้อเพดาน และเยื่อบุเพดาน มาเย็บเข้ากันเป็นสามชั้น ที่สำคัญที่สุด คือ กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนที่แพทย์จะพยายามซ่อมให้ได้กล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนด้านข้างของเพดานที่แพทย์เลาะเลื่อนเข้ามานั้นจะค่อยๆ งอกเองจนเป็นเพดานเต็มผืนในที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

กรณีปากแหว่ง เพดานโหว่ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพดานหลังจากการผ่าตัดริมฝีปากประสบผลสำเร็จและได้ริมฝีปากที่สมบูรณ์แข็งแรงดีแล้วค่ะ โดยทั่วไปมักจะทำหลังการผ่าตัดริมฝีปากประมาณ 6 เดือนขึ้นไป

ใส่ใจต่อเนื่อง...หลังทำ

ภายหลังผ่าตัดจะต้องดูแลแผลริมฝีปากและเพดานให้ถูกต้อง พ่อแม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการนี้ด้วย ถ้าดูแลไม่ดีอาจทำให้แผลหายช้า เกิดแผลอักเสบหรือแผลที่เย็บไว้แยกออกจากกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากในการแก้ไขภายหลัง ที่สำคัญผลการรักษาที่ได้จะไม่สมบูรณ์ รวมทั้งการใช้งานของเพดานหรือริมฝีปากก็อาจไม่ปกติได้

โดยทั่วไป แพทย์จะให้เด็กงดดูดนมนานประมาณ 1 เดือน จนกว่าแผลจะหายดีและแข็งแรงเพียงพอ ในช่วงนี้ควรเลี่ยงไปใช้ช้อน หรือหลอดหยดน้ำ หรือนมแทนไปพลางก่อน ส่วนการดูแลแผลผ่าตัดก็ทำไปตามที่แพทย์แนะนำ และควรมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษา รวมถึงการรักษาต่อเนื่องอื่นๆ เช่น การฝึกการใช้ริมฝีปาก เพดาน การดูแลการจัดฟัน การผ่าตัดซ่อมแซมเหงือกหรือแก้ไขจมูกที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเติบโตพร้อมกับสภาพของใบหน้าและโครงสร้างส่วนต่างๆ ที่สมบูรณ์ที่สุด

....พ่อแม่ที่มีลูกพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ อย่ามัวแต่โทษเวรกรรม ความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ รักษาได้

...ควรรีบนำเด็กมาพบแพทย์ก่อนจะผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญไป เพื่อรอยยิ้มที่สดใสของลูกน้อยค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น